top of page

ประวัติพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

พระอาจารย์สุธรรม.JPG

ประวัติและปฏิปทา 
พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

วัดป่าหนองไผ่

ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร

3C5CDF61-4D9C-4F80-B822-7602A005BF5D.jpg

๏ ครอบครัวที่อบอุ่น แม้ไม่ร่ำรวย

ก็เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างคน 

            “พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม” เป็นศิษย์ที่ถวายตนเข้าศึกษาอบรมวิปัสสนากรรมฐาน และถวาย      การดูแลรับใช้อุปัฏฐากใกล้ชิดพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่แหวน สุจินโน วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่, หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล สกลนคร, องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี ซึ่งแต่ละรูปล้วนเป็นบูรพาจารย์องค์สำคัญสายพระป่ากรรมฐานศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสิ้น

            พระอาจารย์สุธรรม มีนามเดิมว่า สุธรรม แซ่จึง เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ณ ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง

            โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายจึงบุ้นเลี้ยง และนางจิวป๋อเซี้ยม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ (เป็นบุตรชายตนโต ของตระกูล)

            ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าหนองไผ่ บ้านหนองไผ่ ต.ดงมะไฟ อ.เมือง  จ.สกลนคร 
 

 ๏ ภาวะผู้นำโดยธรรมชาติ  
 

            โดยเหตุที่บุตรคนโตเป็นหญิง  รองลงมาคือท่านพระอาจารย์ๆ ในวัยเด็กจึงต้องทำหน้าที่เป็นพี่ชายคนโตของน้องๆ ทั้ง ๑๒ คน
           

            แม้โดยมิได้จงใจจะฝึกหัด แต่การที่ท่านสำนึกในความเป็นพี่ใหญ่ มีความรักความเมตตาต่อน้องๆ นี่เอง  ได้ซึมซาบอุปนิสัยความเป็น “ผู้นำ” ให้แก่ท่านโดยอัตโนมัติอย่างเป็นธรรมชาติ ซึมซาบอย่างค่อยเป็นค่อยไป 
            ดังนั้น จะเห็นได้จากในปัจจุบัน บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ต่างได้มีความรู้สึกที่เด่นชัดตรงกันประการหนึ่งว่า ท่านพระอาจารย์มีเมตตา เอื้อเฟื้อสงเคราะห์ เอาใจใส่จริงใจต่อศิษย์ ปานบิดาเอื้ออาทรต่อบุตร หรือดุจดัง  พี่ชายใหญ่  ให้ความอนุเคราะห์ห่วงใยคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่น้องๆ ทุกคนโดยเสมอหน้ากัน 

 

๏ ความกล้าหาญที่ต้องเดิมพันด้วยชีวิต 

(แต่กอปรด้วยสติปัญญาและความรอบคอบระมัดระวัง)  
 

            นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของท่าน ที่บิดามารดามีความเห็นตรงกันที่จะฝึกให้บุตรทุกคนให้สามารถ พึ่งตนเอง เรียนรู้และค้นพบตนเอง

            ด้วยเหตุนี้นอกเหนือไปจากภารกิจที่ท่านปฏิบัติให้แก่ครอบครัวแล้ว ท่านจึงได้ใช้ชีวิตผจญภัย บ่มเพาะนิสัย เด็ดเดี่ยวกล้าหาญในรูปแบบต่างๆ ตามวัยของท่าน เช่น การว่ายน้ำในแม่น้ำระยองที่ไหลเชี่ยวผ่านหลังบ้านของท่าน แล้วว่ายออกไปสู่ปากอ่าว... สู่ทะเลเป็นระยะทางไกลๆ ซึ่งมิใช่สิ่งง่ายสำหรับทุกท่าน 

 

            การที่จะทำเช่นนี้ได้ บุคคลนั้นต้องฝึกฝนตนเองจนมีความเชี่ยวชาญสูง มีความเพียร มีความแข็งแรง กล้าหาญ อดทน และที่สำคัญต้องมีความสุขุมระมัดระวังรอบคอบ คำนวณกำลังของตนเองกับระยะทาง และการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ต้องมีความถูกต้องแม่นยำ เช่น การสังเกตคะเนระยะทางของเรือชนิดต่างๆ      ที่จะแล่นผ่านมา ต้องประเมินกับกำลังในการว่ายน้ำของตน ว่ามีอัตราเสี่ยงภัยมากน้อยเพียงใด เรือลำใดสามารถเกาะพักได้ หรือเรือ  ลำใดจะเป็นอันตรายหากว่ายน้ำเข้าใกล้รัศมี

            เพราะมีชีวิตเป็นเดิมพัน ความสนุกท้าทายของท่านในวัยเด็กนั้น จึงสร้างเสริมลักษณะนิสัย          ความกล้าหาญอย่างรอบคอบ รู้เขา-รู้เรา มิใช่ความบ้าดีเดือด มุทะลุดุดันอันไม่เป็นแก่นสาร ของคนวัยคะนองทั่วไป 

๏ อำลาเพื่อนและครู  

ไปเรียนรู้และต่อสู้ชีวิตในท้องทะเลอันสุดแสนไกล)

            ด้วยความเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว ที่มีปากท้องของพ่อแม่พี่น้องที่ต้องดูแลรวม ๑๖ ชีวิต      จึงจำเป็นต้องกล่าวอำลาเพื่อนๆ และกราบลาครูบาอาจารย์ เมื่อเรียนจบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เพื่อออกมาช่วยครอบครัว ทำมาหากิน โดยการไปเสี่ยงชีวิตผจญภัย ตระเวนไปกับเรือประมง ออกจับปลา กลางท้องทะเลมหาสมุทรอันกว้างไกล เต็มไปด้วยภยันตรายจากคลื่นลมและพายุร้ายที่ไม่รู้จักคำว่า “เมตตาปราณีต่อผู้ใด” 
 

            ในขณะที่เพื่อนๆ วัยเดียวกัน มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน หรือวิ่งเล่นสนุกสนานในสนามกีฬา สนามฟุตบอล หรือขับร้อง ดีดกีตาร์ ฟังเพลงกัน

            แต่ท่านกลับง่วนอยู่กับงานหนักทุกชนิดบนเรือกลางท้องทะเลลึก ต้องรับผิดชอบภาระหน้าที่ต่างๆ    อดตาหลับขับตานอน กินอยู่พอแค่ประทังชีวิตไปวันๆ เรียนรู้งานตั้งแต่ระดับพื้นฐานเป็นกรรมกรจับกัง ใช้แรงงานหนัก แล้วพัฒนาตนเรียนรู้หน้าที่ต่างๆ อย่างรวดเร็วขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยพื้นนิสัยเป็นคนจริงจัง ลงว่าตั้งใจทำอะไร จะทำจริง ไม่เหยาะแหยะ ไม่โลเล สู้ไม่ถอย 

           

            เพียงเวลาไม่กี่ปี ที่ได้บ่มเพาะสั่งสมประสบการณ์อย่างโชกโชน ถึงอายุจะเป็นเพียงแค่หนุ่มน้อย แต่ก็เป็นที่ยอมรับในความเชี่ยวชาญสามารถ มีความรับผิดชอบสูง จนได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้เป็นหัวหน้าเรือ เป็นนายเรือ คือ เป็นไต้ก๋ง หรือตำแหน่งที่เรียกกันสั้นๆ ในหมู่ชาวเรือว่า “ไต๋” นั่นเอง 

 

            แม้จะประสบความทุกข์ยากลำเค็ญแสนเข็ญในช่วงเวลานี้สักเพียงใด แต่ด้วยปัญญาและการมองโลก ในแง่ดี ท่านพระอาจารย์เคยเล่าประสบการณ์ในช่วงชีวิตวัยนั้น เป็นอุทาหรณ์ เป็นข้อคิด เป็นคติสอนใจบรรดาลูกศิษย์ให้ได้รับฟัง แล้วนำกลับไปคิดพิจารณาอบรมตนเอง คนที่หย่อหย่อน อ่อนแอ ท้อแท้ชีวิตก็กลับมีกำลังใจลุกขึ้นสู้ คนที่อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ก็ไม่ให้ประมาทขาดสติ หลงระเริงในชีวิต ให้หมั่นคิดถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตเอาไว้เสมอๆ 
 

๏ เต็มใจรับใช้ชาติ

(เคารพในกฎกตกิาของสังคม)

            จากวันนั้นจนถึงวัยเกณฑ์ทหาร ก้าวขึ้นสู่ฝั่งด้วยจิตใจที่พร้อมจะรับใช้ชาติด้วยการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทางราชการ อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา

            ในเรื่องนี้ คุณโยมมารดาเล่าให้ฟังว่า บรรดาพ่อแม่ของเด็กหนุ่ม ๆ วัยเกณฑ์ทหารในละแวกบ้าน ต่างพากันวิ่งเต้นจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่บางคน เพื่อแลกกับการปลอดพ้นจากการถูกเกณฑ์ทหารของลูกชายของพวกเขา แต่สำหรับบุตรชายท่าน กลับกำชับอย่างแข็งขันกับมารดาว่า ขอห้ามขาด ที่จะไป “ติดสินบน” เพื่อการนี้ และยังย้ำ เพิ่มเติมอีกว่า หากทางครอบครัวพยายามที่จะใช้เงินเพื่อการดังกล่าว ท่านจะสมัครขอเข้าเป็นทหารเกณฑ์ด้วยตนเองเลยทีเดียว

            เมื่อเห็นความตั้งใจเด็ดเดี่ยวของบุตรชาย ทางบ้านจึงปล่อยให้ไปจับใบดำใบแดงเองตามกำหนด ผลปรากฏว่า...

๏ สุขที่เป็น “ผู้ให้” สุขใจกว่าการเป็น “ผู้รับ”

            ผลปรากฏว่า... ในการคัดเลือกทหารในปีนั้น ท่าน “ไม่ถูกคัดเลือก” จึงผิดหวัง เนื่องด้วยเตรียมพร้อมเต็มที่ ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ทั้งรองเท้า สิ่งของเครื่องใช้จิปาถะที่คิดว่าจำเป็น ด้วยหวังใจว่าจะได้เป็นทหารเกณฑ์  รับใช้ชาติอย่างเต็มภาคภูมิ ถึงขนาดขายรถเครื่องคันเก่งคันเก่าคู่ชีพ เตรียมเงินทองข้าวของไปใช้ในระหว่าง    เป็นทหารเกณฑ์! ทว่าก็พลาดหวัง!

            ในเรื่องนี้คุณโยมมารดาเล่าว่า หลังจากไม่โดนเกณฑ์ทหารแล้ว บุตรชายของท่านก็เดินทางกลับมา ถึงบ้านในสภาพประหนึ่งคนสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยว่านาฬิกาข้อมือ, ทรัพย์สินเงินทองเท่าที่มีติดตัวอยู่ ได้อันตรธานหายไปจนหมดสิ้น เพราะเพื่อนๆ ที่ถูกเกณฑ์ทหาร พากันเอ่ยปากขอเงินทองและสิ่งของต่างๆ ที่ติดตัวท่าน ด้วยความรักเพื่อนพ้องและความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อมาแต่เยาว์ ท่านจึงแจกจ่ายเงินทอง ข้าวของต่างๆ ให้เพื่อนไปจนหมดสิ้น ไม่เสียดายอาลัยในของใช้เหล่านั้นเลย

            เมื่อกลับถึงบ้าน ท่านก็ปรารภกับมารดาว่า “จะขอบวช” และเฝ้าร่ำร้องขออนุญาตต่อบิดามารดา    อยู่เสมอ ด้วยความรู้สึกลึกๆในใจว่า...ไม่อยากกลับไปเดินเรือประมงเพื่อจับปลาอีกแล้ว!!!
 

๏ ลาภลอยของน้องๆ

            คราวหนึ่งน้องสาวของท่านเล่าว่า ในวัยหนุ่มช่วงนี้ มีสตรีสาวงามหลายราย ต่างชื่นชมยินดีในตัวท่าน พากันแวะเวียนซื้อขนมซื้อข้าวของมาเยี่ยมเยียนถึงบ้านเสมอๆ แต่ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นที่จะบวชเป็นพระให้ได้เสียก่อน ท่านจึงมิได้ให้ความหวังแก่สตรีใดเลย

  

            เมื่อเธอเหล่านั้นมาเยือนถึงบ้าน ท่านก็ดูจังหวะแล้วหลบเลี่ยงการพบปะโดยออกจากบ้านไป เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม แขกผู้มาเยือนนั่งเฝ้านั่งรอ ชะเง้อคอย คอยแล้วคอยเล่า จึงลากลับอย่างผิดหวังไปตามๆ กัน    ส่วนบรรดาน้องๆ ก็เลยพลอยฟ้าพลอยฝน ได้กินของฝาก กินขนมฟรีอยู่เป็นประจำ นับเป็นเรื่องจดจำตามประสาเด็กๆ ของเหล่าน้องๆ เสมอมา 

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ 

๏ การไม่คบคนพาล-การคบบัณฑิต  

นี้เป็นมงคลอันสูงสุด  

 

            มูลเหตุสำคัญที่ทำให้บังเกิดศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา เนื่องจากได้พบกัลยาณมิตร คือพระ กรรมฐาน ชาวระยองรูปหนึ่ง พระกรรมฐานรูปนี้ ปฏิบัติกรรมฐานภาวนาในป่าเขากับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ  แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง  ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 

            อุปนิสัยอีกประการของท่านพระอาจารย์ คือ การชอบคบมิตรที่สูงวัยกว่า ซึ่งบุคคลเหล่านั้นมักสูงด้วยประสบการณ์เช่นกัน สำหรับเรื่องการคบเพื่อนนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญของคนเรา ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว              พระพุทธองค์ คงไม่ตรัสไว้เป็นข้อแรกและข้อที่สองของมงคล ๓๘ ประการ ที่เริ่มด้วย... 

            อะเสวนา จะ พาลานัง, ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา...เอตัมมังคะละมุตตะมัง การไม่คบคนพาล,          การคบบัณฑิต นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

            จึงนับได้ว่า วิถีชีวิตของท่านพระอาจารย์ เจริญก้าวหน้าก็เพราะได้คบคนดีเป็นมิตรนั่นเอง 

            ทุกครั้งที่พระภิกษุรูปนั้นเดินทางกลับลงมาจากเชียงใหม่ และแวะพักที่ระยอง บุคคลทั้งสองก็ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย เล่าประสบการณ์แห่งชีวิตบรรพชิตนักปฏิบัติภาวนาให้อีกฝ่ายหนึ่งรับฟังด้วยความสนใจอยู่เนืองๆ

            จนวันหนึ่ง... วันที่ศรัทธาเต็มรอบ... ถึงกาลอันเป็นมงคล... มีความพร้อมแล้วทั้งกายและใจ...

พระอาจารย์สุธรรม วัดป่าหนองไผ่

พระอาจารย์สุธรรม วัดป่าหนองไผ่

๏ สู่ร่มกาสาวพัตร์

            ท่านเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุสมความปรารถนา เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ณ พัทธสีมา  วัดตรีรัตนาราม ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง โดยมี ท่านพระครูประจักษ์ตันตยาคม วัดคีรีภาวนาราม ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว จำพรรษา ณ วัดตรีรัตนาราม ๔  พรรษาเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ 


๏ เร่งขวนขวายการศึกษา

ใช้เวลาให้ถูกตามจังหวะของชีวิต

            อย่างไรก็ตาม แม้ในเบื้องต้นท่านต้องศึกษาเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม เรียนนักธรรมตรี โท เอก ที่วัดตรีรัตนาราม จ.ระยอง แต่เมื่อถึงฤดูแล้งทุกปี ท่านจะต้องกราบลาครูบาอาจารย์ขึ้นไปหาที่พักภาวนา ทางภาคเหนือบนดอยแม่ปั๋งกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ บ้าง หรือบางทีก็ไปศึกษาแนวทางปฏิบัติกับหลวงปู่สิม  พุทธาจาโร แห่งวัดถ้ำผาปล่อง ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บ้าง 

            ท่านมักนำเรื่องนี้มาบอกเล่าเป็นคติแก่บรรดาพระหนุ่มเณรน้อย ตลอดจนถึงลูกศิษย์ผู้ใฝ่ใจ ในการปฏิบัติภาวนาว่า เมื่อแรกเป็นผู้ใหม่เข้ามาในวงการภาวนา ให้รีบเร่งขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียน ให้พอมี พื้นฐานความรู้ความเข้าใจในอรรถในธรรมเป็นเบื้องต้น เพราะเป็นบาทฐานสำคัญของการเจริญภาวนา และที่สำคัญเมื่อยังเป็นผู้น้อย กิจภาระต่างๆ ก็ยังน้อยนิด จงรีบใช้เวลานี้ศึกษาเล่าเรียนอย่างเป็นระบบ เพราะต่อไปภายภาคหน้าภารกิจ ความรับผิดชอบต่างๆ จะต้องเพิ่มขึ้น ไม่สะดวกในการศึกษาเล่าเรียน 

            กรณีตัวอย่างนี้ ท่านก็ใช้เปรียบเทียบอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนคนหนุ่มสาวให้สนใจใฝ่ศึกษาความรู้ใส่ตัวเสียแต่ในวัยเด็ก อันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และทางจิตใจที่ยังปลอดโปร่ง ไม่สับสนว้าวุ่นเหมือนกับผู้ใหญ่ที่ต้องแบกภาระทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัว 

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

๏ ครูแท้-ศิษย์แท่้

เพียงแค่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนให้เต็มที่

 

            ในระหว่างที่พำนักศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของ พระอาจารย์สุธรรม ก็คือการมีโอกาสดูแลรับใช้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ดุจดังบุตรปฏิบัติต่อบิดา ด้วยความกตัญญูกตเวทีอย่างสุดกำลังเหนือเศียรเกล้า

            ชีวิตพระกรรมฐานนั้น นอกเหนือไปจากความภาคภูมิใจในการเร่งความเพียรภาวนาแล้ว การมีโอกาสรับใช้ครูบาอาจารย์อย่างเต็มกำลังความสามารถ ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ เป็นโชควาสนา คือสิ่งสูงส่งอันมีค่า คือมงคลอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตยิ่งนัก 

            หมู่พระกรรมฐานผู้มุ่งมั่นในการปฏิบัติภาวนานั้น มักมีจริตนิสัยตรงกันอยู่ประการหนึ่ง คือมีความพร้อมตลอดเวลาเพื่อถวายการรับใช้ครูบาอาจารย์ ตามแต่ท่านจะมีเมตตามอบหมายงานใด ๆ ให้ ก็ถือกันว่า เป็นความน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ครูบาอาจารย์ให้ความไว้วางใจ จึงต่างพากันคอย “ตะแคงหู” เพื่อสดับรับฟังคำเรียกใช้ของครูบาอาจารย์ตลอดเวลา จิตใจที่มีความสำนึกในพระคุณครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลานั้น ย่อมมีความละเอียดลออ มีคุณสมบัติอย่างเพียงพอ อันเป็นบาทฐานสำคัญของความเจริญก้าวหน้าในชีวิตผู้ปฏิบัติธรรม  

          หากขาดความกตัญญูกตเวทีเสียแล้ว คุณธรรมใดๆ ก็งอกงามขึ้นมิได้ ความดื้อดึงแข็งกระด้าง ความอวดรั้นถือดีคือกิเลสมีแต่จะเจริญพอกพูนหนาทึบยิ่งขึ้นๆ บดบังอรรถธรรมโดยสิ้นเชิง 

            ฝ่ายครูบาอาจารย์นั้นเล่า ท่านก็ปฏิบัติตนสมกับที่บรรดาศิษย์ยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าว่าเป็นดั่งพ่อแม่ และเป็นทั้งครูบาอาจารย์ ผู้มีแต่ความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจในการอบรมสั่งสอนดุด่าว่ากล่าวดูแลศิษย์ ดุจบิดามารดาที่เคี่ยวเข็ญ และเอื้ออาทรต่อบุตรของตน สายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของครูและศิษย์ เกิดจากต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนต่อกันและกันอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง !!

            ความรักความเมตตาของครูบาอาจารย์... ความศรัทธาและความเคารพเทิดทูนจากศิษย์ จึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติพร้อมๆ กันทั้งสองฝ่าย 
 

 

๏ มรสุมชีวิต

            แม้วิถีชีวิตของท่านจะแลเหมือนได้ผ่านพ้นการเผชิญหน้ากับมรสุมร้ายกลางท้องทะเลไปแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง... “มรสุมชีวิต” ยังตามติดผู้คนไม่เลิกรา...

            ในขณะที่ท่านกำลังซาบซึ้งกับชีวิตบรรพชิตอย่างดูดดื่มยิ่งขึ้นๆ... คลื่นใต้น้ำก็กำลังก่อตัว เป็นมรสุม  ลูกใหญ่ พร้อมที่จะถาโถมใส่ท่านเมื่อถึงกาลเวลาของมัน!

            กล่าวคือ มีเพียงท่านลำพังผู้เดียว ที่กำลังบังเกิดความศรัทธาเพิ่มพูนในจิตใจในร่มเงาพระพุทธศาสนา แต่ว่าทั้งญาติพี่น้องทั้งในครอบครัวที่ระยอง และญาติทางฝ่ายโยมมารดาที่สุพรรณบุรี ต่างตั้งหน้ารอคอย      “วันสึก” ของท่านอย่างใจจดใจจ่อ ! 

            ทุกครั้งที่พบญาติพี่น้อง จะได้รับคำถามรุกเร้าคาดคั้นอย่างไม่มีลดละเป็นประจำว่า “เมื่อไรจะสึกๆ... เมื่อไรจะสึกเสียที!” ทั้งนี้เพราะทางครอบครัวของท่านเคร่งครัดอย่างเหนียวแน่นในจารีตประเพณีแบบจีนโบราณแท้ ซึ่งถือว่า ท่านเป็นลูกชายคนโต มีหน้าที่”ต้อง”สานต่อกิจการในครอบครัว 

            และประกอบกับในสมัยนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่เคย หรือไม่ค่อยได้พบกับพระที่เป็นพระแท้ หรือเป็นพระที่อยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จึงพากันมีทัศนคติต่อผู้บวชว่า “...เป็นขอทานจำพวกหนึ่ง เป็นพวกสิ้นท่า ในชีวิต หมดทางทำมาหากิน หมดที่ไป หมดราคาของชีวิตเสียแล้ว จึงต้องไปบวช เป็นที่น่าอับอายขายหน้า      แก่ญาติพี่น้องและวงศ์ตระกูลยิ่งนัก!” (อีกทั้งแต่ก่อน ตระกูลท่านเป็นผู้นับถือศาสนาอื่นอีกด้วย) โดยเฉพาะโยมบิดานั้น ถึงกับตั้งข้อรังเกียจเหยียดหยาม คือ ทั้งรัก ทั้งแค้นแน่นอยู่ในหัวอก 

            ที่สำคัญคือ เดิมทีก่อนบวช นับตั้งแต่เกิดจนโตขึ้นมาในครอบครัวชาวจีนผู้ยึดมั่นในค่านิยมดั้งเดิมแท้ ที่ให้ความสำคัญยิ่งต่อบุตรชายคนโต ท่านจึงได้รับการยกย่อง ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งจากบิดา มารดา พร้อมญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ว่า เป็นดุจดัง “ธงแห่งชัยชนะของครอบครัว” เป็นทั้งความหวัง เป็นทั้งอนาคตทั้งหมดที่รุ่งโรจน์ของครอบครัว ที่ท่านจะ “ต้อง” เป็น “ผู้นำ” พาไปให้บรรลุจุดหมาย 

            ดังนั้น นับตั้งแต่โยมย่า เรื่อยลงมาจนถึงสมาชิกที่เล็กที่สุด (ที่พอรู้ความ) ของครอบครัว ก็จะให้    ความรู้สึกยกย่อง และปฏิบัติต่อท่าน ไม่ต่างอะไรราวกับท่านเป็น “องค์ชายใหญ่” ของตระกูลทีเดียวก็ว่าได้!

            แล้วถึงวันนี้! วันที่ความรู้สึกยกย่องให้เกียรติอย่างสูงส่งทั้งมวลชนที่เคยได้รับมา กลับกลายพลิกผัน ยิ่งกว่าหน้ามือเป็นหลังมือ จากสูงสุดมาตกต่ำดำดิ่งจมมิดอยู่ใต้พื้นธรณี ไร้ค่ายิ่งกว่าเศษขยะในความรู้สึกของใครๆ  ก็นับเป็นความทุกข์ทรมานทารุณขมขื่นจิตใจสำหรับท่านในขณะนั้นอยู่มิใช่น้อย ถึงจะเป็นความรู้สึก ที่แผดเผา รบกวนจิตใจ ให้ต้องพะว้าพะวังละล้าละลังอยู่ตลอดเวลา แต่ท่านก็รวบรวมพลังใจว่า จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ดำรงตนเป็นพระที่น่าเคารพบูชากราบไหว้ และเป็นที่พึ่งทางจิตใจแก่สังคม จะพิสูจน์ ให้ญาติพี่น้องทุกคนยอมรับให้ได้ ท่านจึงยิ่งเร่งความพากเพียรในการประพฤติปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไปอีก...“ไม่มีคำว่าท้อถอย!”
 

๏ โทรเลขด่วน

            เมื่อท่านสำเร็จนักธรรมเอกในพรรษาที่ 4 แล้ว ตลอดพรรษาที่ 5 ท่านก็มุ่งหน้าสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากที่ได้ชิมลองปฏิบัติเป็นครั้งคราวในหน้าแล้งของทุกปีที่ผ่านมา

            ดังนั้นพรรษาที่ ๕ ท่านจึงตัดสินใจขึ้นไปปฏิบัติกับหลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่ การเจริญภาวนามีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในด้านความสงบจากสมาธิ

            ทว่าหลังออกพรรษาได้ไม่นาน ก็ได้รับโทรเลขด่วน ให้รีบลงไปที่สุพรรณบุรีทันที เพราะโยมยายป่วยหนักอาการน่าวิตกมาก ต้องการพบพระหลานชายเป็นที่สุด 

            ท่านจึงได้เข้ากราบลาครูบาอาจารย์และรีบออกเดินทางทันที ด้วยเกรงว่า จะไม่ทันเวลาที่จะโปรด โยมยายเป็นครั้งสุดท้าย! แม้อาจจะถึงคราวที่ต้องสูญเสียญาติผู้ใหญ่ผู้เป็นที่รักยิ่งของทุกคน แต่โอกาสนี้ก็เป็นโอกาสสำคัญ ที่จะทำให้ญาติพี่น้องทั้งตระกูลได้ซาบซึ้งคุณค่าที่ท่านได้บวชมา! 
 

๏ โยมยาย...แข็งใจอีกนิด  

            พระหนุ่มเดินทางระหกระเหินอย่างเร่งรุดด้วยความทุลักทุเล เพราะการคมนาคมสมัยโน้นยังยากลำบาก กว่าจะออกมาจากป่า กว่าจะหารถได้ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคมาขัดขวางดวงใจที่มุ่งมั่น ขอเพียงโยมยาย... อดทนรอคอยอีกสักนิด พระหลานชายก็จะไปให้ได้เห็นหน้า สมค่าที่ต่างฝ่ายต่างปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะพบกันให้จงได้!
 

๏ ภารกิจอันสำคัญของชีวิต เพื่อทดแทนพระคุณ

 

            เมื่อเดินทางถึงบ้านโยมยายที่สุพรรณบุรี ท่านรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะพบว่าบรรดาวงศาคณาญาติ  จากทุกถิ่น มารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียงคับคั่ง

            “ฤาโยมยายจะจากไปเสียแล้วหรือนี่” ท่านได้แต่รำพึงในใจขณะที่รีบสาวเท้าก้าวเข้าไปในห้องของ    โยมยาย

            หญิงชรานอนหลับตา หายใจอ่อนโรยรินอยู่ท่ามกลางหมู่ญาติที่แห่แหนรายล้อมอยู่รอบเตียง เป็นบรรยากาศที่ตึงเครียด หดหู่ สิ้นหวัง น่าเศร้าใจเหลือประมาณที่จะกล่าวได้ 

            ในช่วงเวลาวิกฤติที่สำคัญขนาดนั้น ท่านไม่มีโอกาสได้ทักทายผู้ใด ท่านรวบรวมจิตใจให้สงบผ่องใส    ด้วยความหวังว่า โยมยายจะสามารถลืมตาขึ้นมาได้อีกสักครั้ง เพื่อเห็นชายผ้าเหลืองของพระหลานชาย... ก่อนที่จะสิ้นลมสิ้นใจจากไป อย่างน้อยขอให้โยมยายได้เห็นชายผ้าเหลืองเป็นครั้งสุดท้าย ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตนี้ด้วยเถิด 

            ท่านเอ่ยวาจาร้องเรียกโยมยายด้วยความแผ่วเบานุ่มนวล ถ่ายทอดพลังจิตที่สงบและปรารถนาดีอย่างเต็มล้นจากใจสู่โยมยาย “โยมยายๆ พระมาแล้ว...โยมยายพระมาหาโยมยายแล้ว” จิตท่านเฝ้ารำพึงว่า “ขอให้พระหลานชาย ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดนี้ เพื่อทดแทนพระคุณอันสูงล้นของโยมยายด้วยเถิด”...“โยมยายๆ พระหลานชายของโยมยายมาหาโยมยายแล้ว” ท่านเฝ้าเรียกขาน แม้ความหวังจะดูมอดไหม้ริบหรี่เต็มที! 
 

๏ นาทีสำคัญที่ต่างจดจ่อรอคอย

            หญิงชราปรือตาขึ้นช้าๆ ด้วยความยากลำบาก วินาทีนั้นพลันดวงตาทั้งสองของสายสัมพันธ์ “ยาย-หลาน” ก็ประสบพบกัน บรรยากาศภายในห้องเงียบกริบประหนึ่งโลกนี้ดับสูญสิ้นไร้สิ่งมีชีวิตโดยสิ้นเชิง        เมื่อหญิงชราเพ่งมองสบดวงตาคู่นั้นอยู่นานจนเต็มตา ระลึกจดจำได้ชัดว่า... นี่คือดวงหน้าของพระหลานชาย ที่ตนเฝ้ารอคอยด้วยความอดทน อดกลั้นต่อทุกขเวทนาสาหัสที่กำลังแผดเผา ต้องกัดฟันแข็งใจรอที่จะได้พบ 

            โยมยายจึงเอ่ยด้วยเสียงที่อ่อนแรง สั่นเครือแหบเบา แต่กลับดังสนั่นกังวานกึกก้องกัมปนาท ทะลุทะลวงถึงหัวใจของพระหลานชายว่า “บวชมาก็นานแล้ว... เมื่อไรจะสึกเสียที! ภาระหน้าที่ในครอบครัวก็มีอยู่ ทำไมไม่สึกเสียที!” 

 

๏ หัวใจแตกสลาย 
 

            ในบัดดลที่ได้ฟังคำพูดที่ประดุจดังสายฟ้าฟาดผ่าเปรี้ยงลงกลางดวงใจนั้น จิตใจที่เคยสงบนิ่ง          ของพระหนุ่ม ดังถูกพลังลึกลับมหาศาลอัดกระแทกแตกสลาย กระจัดกระจาย กระเด็นกระดอนไปไม่มีชิ้นดี  หมดความสามารถ ที่จะควบคุมเกาะกุมให้กลับมารวมสมาธิได้ดังเดิม เสียขวัญเคว้งคว้างอย่างไร้ทิศทางที่จะติดตามให้คืนมา ท่านบังเกิดความเศร้าสลดหดหู่ สังเวช นึกสมเพช สมน้ำหน้า อนาถใจในตนเองอย่างที่สุด เป็นความรู้สึกที่ยากเกินกว่ายากที่จะบรรยายให้ใครเข้าใจได้ตรงกับความรู้สึกอัปยศอดสูใจในขณะนั้น
            ท่านเกิดความเสียใจ อีกทั้งบังเกิดความอับอายอย่างสุดแสนสุดประมาณต่อบรรดาหมู่ญาติ            ทั้งวงศ์ตระกูล ที่กำลังรายล้อมจดจ่อจ้องมองท่านด้วยสายตาเพิกเฉยเย็นชาเป็นตาเดียวกัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตให้ตายทั้งเป็น นั่นเอง! ท่านรู้สึกสิ้นหวัง ผิดหวังอย่างที่สุด!... ในขณะเดียวกัน ก็เกิดความทุกข์ท้อแท้ใจ สับสน วุ่นวาย เกิดความลังเลในชีวิตพรหมจรรย์เสียแล้ว 

            ท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟังในภายหลังว่า ท่านเกิดรำพึงในใจ... โอหนอเราช่างเป็นต้นเหตุนำความทุกข์ระทม  อย่างใหญ่หลวง มาสู่หมู่ญาติพี่น้องได้ถึงเพียงนี้เทียวหนอ ฤาการบวชของเราจะเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว น่าสมเพช น่ารังเกียจ เอาเปรียบพี่น้อง อย่างที่ญาติๆ พากันประณามไว้จริงแล้วละหรือ 

            นับแต่วินาทีนั้นผ่านไป จิตใจของท่าน ก็หาเศษเถ้าธุลีของความสงบไม่ได้อีกเลยแม้แต่น้อยนิด      ความคิดที่จะ “สึก” มีพลังรุนแรงสูง เพิ่มพูนผลักดัน บีบคั้นอยู่ภายในทุกขณะจิต ขณะเดียวกันมันก็ต่อสู้อย่าง “เอาเป็นเอาตาย” ชนิดตะลุมบอนฟาดฟันพันตูอยู่กับความรู้สึกลึกๆ ที่แน่นแฟ้นกับชีวิตพรหมจรรย์ เกิดเป็นสงครามล้างผลาญเข่นฆ่าทำลายอยู่ภายในจิตใจตลอดเวลา จนหาช่องว่างเล็กๆ สักนิดที่จะสงบสุข แม้เพียงอึดใจก็ไม่มี!

พอจ สุธรรม 1-5MB (8).JPG

พระอาจารย์สุธรรม วัดป่าหนองไผ่

๏ หมดสิ้นแล้วที่ซึ่งจะพึ่งพา 
 

            เมื่อภารกิจที่สุพรรณบุรีล้มเหลว ท่านรีบพาหัวใจที่แหลกลาญรุ่มดั่งขุมถ่านเพลิงบ่อใหญ่ กลับคืนสู่    วัดถ้ำผาปล่อง ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะกราบลาครูบาอาจารย์ คือ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร              เพื่อสึกหาลาเพศอย่างแน่นอนในทันทีที่ไปถึง! 

            ทว่า... หลวงปู่สิมกลับไม่สนใจใยดีต่อคำกราบลา แม้จะยืนยันกับหลวงปู่ว่า หากยังขืนอยู่ต่อ ก็ต้องเป็นทุกข์  อัดใจจนถึงแก่ความตายเป็นแน่ หลวงปู่สิม กล่าวตอบสวนควันทันทีว่า “งั้นถ้าสึกไปแล้ว จะไม่ต้องตายหรอกหรือ!” จากนั้นหลวงปู่ก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญใดๆ กับคำกราบลานั้นเลย 

 

๏ ศิษย์ที่มีครู ย่อมเทิดทูนครูไว้เหนือเศียรเกล้า 
 

            โดยธรรมเนียมของศิษย์ที่มีครู ศิษย์กรรมฐานที่แท้จริง ย่อมเทิดทูนครูบาอาจารย์อยู่เหนือเศียรเกล้า  จะกระทำการอันใด ย่อมต้องได้รับการอนุมัติจากครูบาอาจารย์เสียก่อน พระอาจารย์สุธรรมก็นับตนว่าเป็นศิษย์มีครู เมื่อหลวงปู่ไม่อนุญาตให้สึก ท่านก็มิอาจฝืนรั้นดันทุรัง กระทำการใดๆ ตามอำเภอใจของตนได้ การณ์ดูเหมือนว่า เรื่องจะจบสงบลงได้ในที่สุด ทว่าเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม เพราะพระอาจารย์สุธรรมในขณะนั้น  กลับต้องเผชิญความอัดอั้นบีบคั้นกดดันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีกเรื่องก็คือ การไม่ได้รับการอนุญาตให้ลาสึก 

            “ถ้ำผาปล่อง” อันเคยเป็นภูผาพฤกษ์ไพรที่ให้ความร่มเย็นใจอย่างสุขล้ำ กลับกลายเป็นดั่งแผ่นดินเพลิง จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ให้แผดเผาเร่าร้อนไปหมดทุกลมหายใจเข้า-ออก ความเคารพบูชาครูบาอาจารย์อย่างเต็มล้นหัวใจก็ยังมีอยู่ แต่ทุกข์สาหัสเจียนตายก็มิอาจขจัดให้เบาบางลงได้ ขืนอยู่ต่อไปก็คงต้องอัดใจ ตรอมใจตาย ทิ้งชีวิตทิ้งร่างกายให้เป็นภาระแก่หมู่พวกอย่างแน่นอน! 

            สุดท้ายท่านจึงตัดสินใจกราบลาขออนุญาตหลวงปู่ ไปหาที่ภาวนาบนยอดดอย จากนั้นเก็บของ      แบกกลดสะพายบาตร เดินเตลิดเปิดเปิงเข้าป่าลึกอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง เพียงแต่มีความตั้งใจว่า ถ้าเข้าป่าไปหาที่สงบ เพื่อเจริญภาวนาแล้วทำไม่สำเร็จ คือไม่สามารถดับร้อนผ่อนคลายทุกข์ได้ ก็ขอเอาชีวิตไปทิ้ง        ให้สาบสูญสิ้นชีพอย่างโดดเดี่ยว ขอเป็นศพอนาถาไร้ญาติขาดมิตร ทิ้งซากอันไม่มีค่าให้เป็นอาหารของสัตว์ป่านานาชนิดอยู่กลางป่าลึกนั่นแหละ! 
 


๏ โปร่งใจได้เพียงชั่ววูบ 

 

            ความโปร่งใจที่เกิดขึ้นจากการได้ก้าวเท้าออกจากวัดถ้ำผาปล่อง บังเกิดแค่เพียงชั่วครู่แล้วก็ดับวับหายไปสิ้น เพราะสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า ก็คือ ป่าดงดิบทะมึนไพรที่ไร้ผู้คน แถมด้วยการโอบล้อมของสัตว์ป่า    ที่ดุร้ายนานาชนิด เช่น หมี ช้าง เสือ เป็นต้น ที่ต่างเคยรุมทึ้งฉีกคร่าชีวิตชาวบ้านป่า และชีวิตพระธุดงค์มานักต่อนักจนนับไม่ถ้วน อีกทั้งยังมีสัญญาคือความทรงจำอันแม่นยำเก่าๆ ที่เฝ้าหลอกหลอนปรากฏทยอยผุดขึ้นมาให้เสียวสยองเขย่าขวัญสั่นประสาท อันเกี่ยวกับเรื่องเล่าของบรรดาภูตผีปีศาจ ภัยมืด มนต์ดำต่างๆ กลางป่าเปลี่ยวในยามค่ำคืนเช่นนี้ 

            ในช่วงเวลาขณะนั้น มีความรู้สึกเหมือนว่า ความทุกข์ทั้งมวลที่มีอยู่ทั้งโลก ได้มาตกทับท่านแต่เพียง    ผู้เดียว ฤาจะเข้าตำราหนีเสือปะจระเข้ เสียแล้วกระมัง!

            แต่โดยที่ท่านมีพื้นฐานในการเจริญภาวนามาแล้วในระดับหนึ่ง กอปรกับจิตใจที่เคยอบรมฝึกฝนตน    ให้เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เสี่ยงความเป็นความตายนับครั้งไม่ถ้วน จึงทำให้เท้าของท่านเดินก้าวเข้าสู่เขาลึกลูกแล้ว ลูกเล่า บุกป่าฝ่าดงดิบต่อไปไม่ย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อย เมื่อย หิว หรือพรั่นพรึงต่อขวากหนามอันแหลมคม ใด ๆ ไม่มีคำว่า “ถอยหลัง” ให้ปรากฏในหัวใจดวงนี้อีกเลย 
 

๏ เหลือเพียงธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้าย 
 

            ท่ามกลางฤดูหนาวแสนทารุณบนยอดดอยสูงลิบ ในที่สุด... ใจก็พาเท้าก้าวมาถึงหมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอแห่งหนึ่ง อันเป็นสถานที่ที่ท่านตัดสินใจจะอยู่พักภาวนาให้ยาวนานกว่าที่อื่นๆ ที่ผ่านมา

            การเดินทางโดยเท้าเริ่มจากวัดถ้ำผาปล่อง ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หยุดพำนักเพื่อภาวนาสงบใจเป็นแห่งๆ ผจญเรื่องราวหมิ่นแหม่เฉียดฉิวต่อความเป็นความตายตลอดการเดินธุดงค์ท่ามกลางป่าดงดิบ ขึ้นเขาลงห้วย เลาะผา ฝ่าเหว จนลุมาถึงขุนเขาอันห่างไกล ในเขตอำเภอแม่สรวย จ.เชียงราย เป็นเวลานานนับเดือน เดินทางรอนแรมผจญภัย ได้ฝึกสมาธิภาวนาอย่างเข้มข้น บิณฑบาตได้ฉันแต่ข้าวเปล่าทุกวัน เผชิญทุกข์สาหัสจากความหนาวอุณหภูมิใกล้ศูนย์องศาฯ หนาวเหน็บเยือกเย็นเจาะลึกแผ่ซ่านเข้าถึงทุกอณูของไขกระดูก โดยปราศจากเครื่องกันหนาวมาห่อคลุม ซ้ำบางคราก็มีลมพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างกลางสายฝนที่ตกซัดสาด เทกระหน่ำลงมาดั่งฟ้ากำลังบ้าคลั่ง 

            ท่านเล่าว่า มันหนาวยะเยือก สั่นสะท้านไปทั่วร่างกาย เจ็บลึกร้าวเข้าไปถึงภายในอกจนนอนไม่ได้ หลับไม่ลง ต้องนั่งกอดบาตรแทนเครื่องกันหนาว ทำสมาธิอยู่ตลอดคืน คืนแล้ว คืนเล่า กลางขุนเขาป่าเปลี่ยวอย่างเดียวดาย... บางคราวก็ทุกข์ท้อรันทดใจ ประหนึ่งน้ำตาตกในเป็นหยาดน้ำเแข็งอันคมกริบ เสียบลึกปักแทงอยู่ทั่วในกายร่ำๆ ปิ่มว่าจะหมดกำลังใจไปพร้อมๆ กับหมดลมหายใจอยู่รอนๆ 

            กลางดงพงไพรที่อยู่แสนไกลเช่นนี้ มีเพียงมด แมลง และแสงดาวเท่านั้น ที่เป็นเพื่อนยามยากสำหรับ คนที่ถูกตัดขาดแล้วจากญาติมิตร ดุจเหลือเพียงตนอยู่แต่ลำพังผู้เดียวในโลก สาอะไรที่ใครอื่นเขาจะห่วงหาอาทร ความทุกข์อย่างสาหัสสุดแสนที่ท่านได้เผชิญเหล่านี้ มันมีพลังอำนาจเหนือทุกข์ใดๆ ที่เคยพบพาน 

            ความทุกข์เรื่องครอบครัวเอย ความทุกข์เรื่องการสึกเอย  กลับมลายหายสิ้น เหลือเพียงทุกขเวทนา  อันแรงกล้าล้วนๆ ที่กำลังเผชิญอย่างจ่อหน้าจ่อตา จ่อจี้เข้าทุกอณูของสรรพางค์กาย ทั้งความเศร้าหมองหม่นใจ ความเจ็บไข้ ความหิวโหย อดอยากขาดแคลน ความกลัว ความหนาวเหน็บ ความทุกข์ยากลำบากนานาสารพัน รวมพลังกันผลักดันให้ท่านต้องกำหนดจดจ่อแนบแน่นอยู่กับการภาวนาพุทโธ หาไม่เช่นนั้นแล้ว ท่านอาจจะต้องสูญเสียสติ คือ วิปลาสไป ทั้งๆ ที่กายยังดำรงอยู่ก็เป็นได้! 
 

๏ แลกเป็นแลกตาย แต่ก็คุ้มค่าเกินกว่าจะเปรียบกัน 

 

            ใจที่มีทีท่าระวังภัย รักษาใจอยู่ทุกขณะเช่นนั้น ก็คือ ท่าของความเพียรไปในตัว เป็นใจที่ถึงพร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ใจต้องระลึกถึงธรรมเป็นที่พึ่ง หรือที่ต้านทานขึ้นมาพร้อมๆ กัน การระลึกถึงธรรมนานเพียงใด ย่อมเป็นการเสริมกำลังสติปัญญา และความเพียรทุกด้านให้ดีขึ้นเพียงนั้น ผลคือความสงบก็เริ่มเกิดขึ้น ตามส่วนแห่งความเพียรจนถึงสงบลงได้อย่างสนิท ความจริงเรื่องทำนองนี้ก็เคยปรากฏในวงพระธุดงค์กรรมฐาน มาแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพราะความกล้าเสียสละจะตายก็ยอมตาย ไม่เสียดายชีวิตขณะนั้น คนเราเมื่อจนมุมเข้าจริงๆ หาที่พึ่งอื่นไม่ได้ ก็จำต้องพยายามคิดช่วยตนเอง พึ่งตนเอง! ธรรมยิ่งเป็นองค์สรณะอันอุดมอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เมื่อน้อมเข้ามาเป็นที่พึ่งของใจในขณะที่กำลังต้องการที่พึ่งอย่างเต็มที่ ธรรมก็ต้องแสดงผลให้เห็น อย่างทันตาทันใจ ไม่เป็นที่สงสัยของผู้ปฏิบัติจริง 
 

๏ ชีวิตในชาตินี้ขอทิ้งไว้ในพระพุทธศาสนา 

            เมื่อบังเกิดความอัศจรรย์แก่จิตเพิ่มขึ้นๆ เป็นลำดับ แม้ว่าจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีพลานุภาพเพียงพอ    ที่จะทำให้ท่านประจักษ์แจ้งแก่ใจแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะมีคุณค่าสูงยิ่งไปกว่าการเดินทางตามรอยพระอรหันต์ ผลจากการปฏิบัติในพงไพรในช่วงเวลานี้เอง ทำให้ท่านบังเกิดความมั่นใจว่า ถ้าท่านดำเนินตาม แนวนี้ต่อไปในที่สุด ท่านก็จะสามารถนำญาติพี่น้อง ให้เกิดความศรัทธาปสาทะ ที่แน่นแฟ้นต่อพระพุทธศาสนาได้อย่างแน่นอน 

            ท่านเกิดธรรมปีติ อุทานธรรมกับตนเองว่า “ชีวิตในชาตินี้ ขอทิ้งไว้ในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำว่าหวนคืนสู่เพศฆราวาสอีกต่อไป!” รำพึงในใจได้เพียงเท่านี้ สัญญาความจำ ภาพความหลังเก่าๆ ที่เคยทุกข์ยากลำเค็ญอย่างสุดแสนสาหัสทั้งกายใจ ก็ผุดพรายปรากฏขึ้นในใจอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องจนจิตบังเกิดความเศร้าสลด สังเวช อเนจอนาถในชีวิตที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็บังเกิดความปีติสุข ล้ำลึกที่สุดในชีวิต เพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะมีวาสนาเป็นผู้หนึ่งกับเขาที่มีโอกาสเข้าใจในธรรมขั้นละเอียดขึ้นกว่าแต่ก่อนๆ อย่างชนิดที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากที่ใดเลย อันเป็นธรรมที่เป็น สันทิฎฐิโก คือเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง และเป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ คือเป็นสิ่งที่ผู้รู้ ก็รู้ได้เฉพาะตน 

            เมื่อความรู้สึกสลดสังเวชชีวิตในอดีตของตน มาบังเกิดอย่างปะทะเข้าอย่างจังกับความรู้สึกปีติสุขล้ำลึกที่สุด ที่เคยพานพบในชีวิต ด้วยบารมีแห่งการปฏิบัติธรรม พลันนั้นน้ำตาแห่งความทุกข์และความสุขก็เอ่อท้นล้นตาไหลพรั่งพรูออกมาอย่างต่อเนื่อง และเนิ่นนาน สะอื้นไห้จนน้ำตาอาบนองเต็มใบหน้า ผ้าจีวรเปียกปอนโชกชุ่มไปด้วยหยาดน้ำตาที่หลั่งไหลลงมาไม่ขาดสายนั่นเอง... คิดถึงพ่อแม่แลญาติพี่น้อง เขาจะรู้กันบ้างไหมว่า..มีใคร คนหนึ่งกำลังนั่งหลั่งน้ำตาอยู่บนยอดดอยกลางป่าเปลี่ยวในยามดึกสงัดเช่นนี้ 

หลวงปู่ฝั้น.jpg

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร 

๏ รับใช้หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

            หลังจากที่ได้รับผลอันน่าอัศจรรย์ ซึ่งไม่เคยคาดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้ ท่านก็พิจารณาว่า ถ้าจะหาความเจริญก้าวหน้าบนหนทางนี้ คงต้องแสวงหาสถานที่ที่สัปปายะ คือ มีความเหมาะสม ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างแท้จริง  เพราะแม้บรรยากาศป่าเขาธรรมชาติทางภาคเหนือจะเหมาะสม แต่สภาพทั่วไป ผู้คนส่วนใหญ่ยังมุ่ง  เข้าวัดเพื่อการท่องเที่ยว จึงมีการประกวดประชันแข่งขันกันแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยอาภรณ์เครื่องประดับแพรวพราว  ละลานตา ไม่ชวนให้ใจสงบ ได้ง่าย ซึ่งต่างจากภาคอีสาน ที่ชาวบ้านแม้ไม่ได้มุ่งไปวัดเพื่อเจริญสติสมาธิภาวนา แต่พวกเขาก็มุ่งไปเอาบุญ ดังนั้น จึงมีความสงบเสงี่ยมระวังตน ไม่อึกทึก คึกคะนอง การแต่งกายห่มคลุม เป็นไปอย่างมิดชิด สุภาพ ผู้ใดพบเห็นก็พาให้จิตใจสงบ แช่มชื่น อนุโมทนาในกิริยาท่าทีและการแต่งกาย

           ดังนั้นย่างเข้าพรรษาที่ ๖ คือ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ หลังจากกราบนมัสการลาหลวงปู่สิมแล้ว ท่านจึงตัดสินใจมุ่งสู่ภาคอีสาน มากราบนมัสการฝากเนื้อฝากตัว ถวายตนเป็นลูกศิษย์รับใช้ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 


๏ มรดกธรรมจากหลวงปู่ฝั้น 

 

            พรรษาที่ ๖ นี้ ท่านก็ได้อุบายวิธีภาวนาจากหลวงปู่ฝั้น รวมถึงได้ซึมซาบศีลาจริยวัตรอันงดงามหมดจดแล้วด้วยดีขององค์หลวงปู่ฝั้น องค์หลวงปู่จะเมตตาถ่ายทอดธรรมผ่านนิทานบ้าง ผ่านเรื่องเล่าต่างๆ บ้าง หรืออบรมต่างๆเป็นพิเศษบ้าง แต่ล้วนแล้วเป็นสิ่งประเสริฐที่เปล่งออกจากดวงจิตเมตตา การุณแก่เหล่าบรรดาศิษย์อย่างแนบสนิทใจ จนยากจะลืมเลือน 

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร 

๏ ความฝันที่เป็นจริง 
 

ต่อมาในพรรษาที่ ๗-๘-๙ (พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๑) ท่านได้มาจำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร แห่งวัดป่าแก้วชุมพล ต.บ้านชุม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร นับเป็นอีกช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ใหม่ ๆหลายประการ มีความเจริญก้าวหน้าภาวนาเป็นลำดับ โดยเฉพาะการพิจารณาทางปัญญา พิจารณาอสุภกรรมฐาน รวมทั้งประสบการณ์ในการออกเดินธุดงค์ ในป่าเขาต่างๆ ของภาคอีสานด้วย 

            ในช่วงปีที่ท่านเร่งทำความเพียร จะไม่สุงสิงคลุกคลีญาติโยมใครๆ เลย เพราะทุกอิริยาบถจะเต็มไปด้วยการเจริญสติ สมาธิ ปัญญาตลอด ท่านจึงมักสำรวมตา มองทอดลงต่ำ สงบวาจา เมื่อมีกิจของหมู่คณะ ก็มิได้ละเลยหลีกเลี่ยง แต่เมื่อเสร็จกิจเมื่อใด จะหาที่นั่งภาวนาหรือเข้าทางจงกรมทันที จนหมู่พวกมาเล่าให้ฟังในภายหลังว่า ได้รับคำชมเชยยกย่องลับหลังจากครูบาอาจารย์เสมอๆ ว่า “ท่านสุธรรมเป็นผู้มีความเพียร เป็นตัวอย่างที่ดีแก่หมู่คณะ” 

            และเหตุการณ์ที่เคยคาดหวังไว้ก็กลายเป็นความจริง กล่าวคือ ญาติพี่น้องของท่านเริ่มสนใจเข้าวัด และมีจิตใจเป็นกุศลทำบุญทำทานกันมากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้คณะญาติพี่น้องและลูกศิษย์ของท่านจากระยอง สุพรรณบุรี ปากช่อง ได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไปว่า เป็นคณะที่มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กว้างใหญ่ไพศาล ต่างพากันเจริญรอยตามท่านพระอาจารย์ ในแง่ที่ว่า “ให้สิ่งของแก่ใครทั้งที ต้องให้แต่ของที่ดี และให้ทีละมากๆ” 

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

พระอาจารย์ปรีดา.jpg

พระอาจารย์ปรีดา (ทุย) ฉันทกโร

พระอาจารย์อินทร์ถวาย.jpg

พระอาจารย์อินทร์ถวาย 

๏ สู่วัดป่าบ้านตาด 
 

            ต่อมาในพรรษาที่ ๑๐ และ ๑๑ (พ.ศ.๑๕๒๒-๒๕๒๓) ท่านจำพรรษาอยู่กับ ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน หรือ “ท่านอาจารย์ใหญ่บ้านตาด” แห่งวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ผู้ทรงอรรถทรงธรรมอันเกษมสูงสุดอีกท่านหนึ่ง จึงได้รับการอบรมเคี่ยวกรำ ขูดเกลา ขัดถู อย่างเข้มงวดกวดขันถึงอกถึงใจ ได้ยินได้ฟัง ได้รู้ได้เห็น ได้เพิ่มพูนประสบการณ์อันสูงล้ำค่าตามแนวทางอริยประเพณี ด้วยข้อวัตรปฏิปทาอันเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น อย่างซื่อตรงตามแบบฉบับพระธุดงค์กรรมฐานที่แท้จริง และมีความเจริญก้าวหน้าในการพิจารณาธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น 

            หนึ่งปีให้หลัง ที่จากวัดป่าแก้วชุมพลมา พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ก็มรณภาพจากอุบัติเหตุเครื่องบนตกที่ท้องนาเขตอำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี ท่านอาจารย์ใหญ่บ้านตาดจึงมอบหมายให้ พระอาจารย์ปรีดา ฉันทกโร หรือพระอาจารย์ทุย แห่งวัดป่าดานวิเวก ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย, พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก แห่งวัดป่านาคำน้อย ต.บ้านก้อง อ.นายูง จ.อุดรธานี และพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบจัดการเรื่องงานพระราชทานเพลิงศพ ให้เรียบร้อยลุล่วงไปด้วยดี 
 

 

๏ ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ 

ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้ 

 

            หลังจากเสร็จภารกิจอันสำคัญนั้นแล้ว พระอาจารย์สุธรรมก็ยิ่งเร่งความเพียรเจริญสติ สมาธิ ปัญญา อย่างต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ จดจ่อยิ่งขึ้น ด้วยเห็นภัยในความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตอย่างชัดเจนประจักษ์ใจ 

            ต่อมาท่านจึงได้รับความไว้วางใจ และได้รับอนุญาตจากท่านอาจารย์ใหญ่บ้านตาด ให้มาพักภาวนาและพัฒนาวัดป่าหนองไผ่ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณเกือบ ๗๐๐ ไร่ ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ต่อจาก เจ้าอาวาสองค์ก่อนที่ถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จับตัวไปสังหาร 

 
๏ โอวาทจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ 
 

 

            ในวันที่ท่านพระอาจารย์สุธรรม ไปกราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์ใหญ่บ้านตาด เพื่อมาอยู่ที่วัดป่าหนองไผ่นั้น ท่านประทานโอวาทมีถ้อยความที่จดจำไว้มิรู้ลืมว่า “ไปแล้ว อย่าไปขวนขวายหาติดต่อญาติโยม คลุกคลีกับสังคม เพราะนั้นไม่ใช่เครื่องขัดเกลา จะทำให้เราเพลิดเพลินลืมเนื้อลืมตัว เสริมกิเลสโดยง่าย” 

            ท่านพระอาจารย์สุธรรมได้ขอความเมตตาจากท่านพระอาจารย์ใหญ่บ้านตาดว่า “หากเกล้ากระผมติดขัดไม่สะดวกในการปฏิบัติธรรม หรือสงสัยในธรรม จะขอเข้ามาศึกษาปฏิบัติกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์อีก”  ท่านอาจารย์ใหญ่บ้านตาด หรือองค์หลวงตาพระมหาบัว ก็เมตตารับคำว่า “อือ!”

            วัดป่าหนองไผ่แห่งนี้ นับเป็นสาขาหนึ่งของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี 
 

๏ วันประวัติศาสตร์ของศิษย์ 

            เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔ (๓๙ ปีที่ผ่านมา : ปัจจุบันปี พ.ศ.๒๕๖๓) ท่านได้มาพักยังที่พักสงฆ์ป่าหนองไผ่ (วัดป่าหนองไผ่ ในปัจจุบัน) และได้เริ่มจัดทำเสนาสนะตามอัตภาพ โดยพักอยู่ในถ้ำเงื้อมผา      ความเป็นอยู่ในยุคแรกยังแห้งแล้งกันดาร อัตคัดขัดสนข้นแค้นลำเค็ญอยู่มาก ไม่ว่าด้านอาหารการขบฉัน  เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย รวมถึง ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ล้วนขาดแคลนทั้งสิ้น 

ผลจากความยากไร้ อัตคัดขัดสนในปัจจัย ๔ นี้เอง ทำให้สุขภาพธาตุขันธ์ร่างกายของพระอาจารย์ ไม่มีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บเลย ประกอบกับในเขตวัดและบริเวณใกล้เคียงเป็นดงของไข้ป่าหรือไข้มาลาเรีย ท่านจึงต้องเผชิญกับไข้ป่าหรือไข้มาลาเรียทั้งสองชนิด คือ

            -.‘ชนิดเชื้อฟาลซิพารัม’ อันเป็นเชื้อมาลาเรียชนิดร้ายแรง เป็นเชื้อดื้อยา ซ้ำก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ คือ มาลาเรียลงตับ (ดีซ่าน), มาลาเรียลงกระเพาะลำไส้ (ท้องเดินเป็นบิดถ่ายเป็นมูกเลือด, มาลาเรียลงไต (ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย), มาลาเรียขึ้นสมอง (เพ้อชัก หมดสติ) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอันตรายถึงตายได้  โดยง่าย และผจญทั้ง

            -.‘ชนิดเชื้อไวแวกซ์’ ซึ่งเป็นมาลาเรียชนิดเรื้อรัง เป็นเชื้อที่หลบซ่อนอยู่ในตับได้เป็นเวลานานๆ ทำให้มีอาการกำเริบเป็นๆ หายๆ

            กว่าจะหายามาสกัดโรคร้ายได้สนิท ท่านก็ต้องตกอยู่ในวังวนของทุกขเวทนาอันแรงกล้าที่รุมเร้า ชนิด ๒ วันดี ๕ วันไข้ ไม่มีการเว้นวรรคให้ท่านได้สุขสบายเลย ตลอดเวลา 3 ปีเต็มๆ 

 

๏ มฤตยูผู้มากับธรรมะ 
 

            อาการไข้เบื้องต้นคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ จะปวดศีรษะครั่นเนื้อครั่นตัวใน ๒-๓ วันแรก ต่อมาจะมีไข้จับสั่นเป็นเวลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมาลาเรีย โดยมีอาการจับไข้แบ่งเป็น ๓ ระยะ คือ 

๑. ระยะหนาว มีอาการหนาวสั่นมาก ราวกับอยู่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น  จะหาผ้ามาห่มสักเท่าใดก็ไม่อาจคลาย    ความหนาวสั่นสะท้านจากภายในได้ อีกสักครู่ไข้จะเริ่มขึ้น ช่วงนี้จะปวดศีรษะอย่างแรง ราวกับศีรษะจะแตกระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ เนื้อตัวจะซีดเผือด แล้วคลื่นไส้อาเจียนพุ่งออกมา อาเจียนแล้วอาเจียนอีกจนหมดไส้หมดพุง บางทีก็มีน้ำดี คือ น้ำย่อยชนิดหนึ่งผสมปนอาเจียนออกมากัดหลอดอาหาร ลำคอ และภายในปาก    จนแสบจนเจ็บระบมไปหมด สติต้องจดจ่อแนบแน่นมีแต่ “พุทโธ” เป็นที่พึ่ง 

๒. ระยะร้อน จากนั้นไข้จะขึ้นสูงประมาณ ๔๐ องศาเซลเซียส ปวดศีรษะหนักขึ้นไปอีก ปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา หน้าแดงก่ำ ตาแดง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว ปวดกระดูกปวดกล้ามเนื้อ ปวดรัดไปทั้งร่างกาย ช่วงนี้กินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง บางทีก็นานถึง ๓-๘ ชั่วโมง 

๓. ระยะเหงื่อออก เหงื่อจะออกชุ่มโชนไปทั้งตัว ไข้จะลดลงเป็นปกติ แต่จะรู้สึกอ่อนเพลียอย่างมาก กำหนดภาวนา พุทโธ จนหลับไป บางครั้งบางคราวอาการก็กำเริบขณะออกบิณฑบาต ต้องนั่งลงพักข้างทางเพราะเกิดไข้หนาวสั่นและหยุดอาเจียนเป็นระยะ ๆ กว่าจะถึงหมู่บ้านหรือกว่าจะกลับถึงวัดก็ต้องเสียเวลาไปยาวนาน บางทีขณะรับอาหารใส่บาตร พอได้กลิ่นคาวของอาหารก็จะคลื่นไส้อาเจียนทันที ยาแฟนซิดาร์ที่มีสรรพคุณชะงัดนักในการหยุดยั้งไข้มาลาเรีย กลับมีค่าเท่ากับความว่างเปล่า ไม่มีผลใดๆ ในการรักษามาลาเรียของท่านเลย แม้จะฉันยานี้อย่างต่อเนื่องสักเพียงใด สุดท้ายโรคร้ายก็มาสยบกับควินิน, เตตราซัยคลินและไพรมาควีน ซึ่งต้องฉันทีละชนิดเป็นชุดๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน 

            ทุกขเวทนาสาหัสที่รุกรานตามล้างตามผลาญชีวิตท่าน ตลอด 3 ปีนี้ ท่านนับเป็นของขวัญอันประเสริฐล้ำค่า  ที่เพิ่มพูนสติ สมาธิ ปัญญา ความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวมั่นคงในธรรมให้เจริญยิ่งขึ้น มีธรรมโอสถเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ยืดอายุขัยเอาไว้ ต่อสู้กับมฤตยูด้วยท่าทีแห่งอรรถแห่งธรรม ชนิดแลกเป็นแลกตายครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เป็นประดุจเครื่องทดสอบกำลังใจความมุ่งมั่นในชีวิตพรหมจรรย์ของศิษย์พระตถาคต หากความทรหดอดทนของท่านไม่เพียงพอ หากสติปัญญาความมั่นคงในธรรมมีกำลังไม่แก่กล้า หากความเมตตาของท่านต่อคณะศิษย์ตาดำๆ ไม่มากมี ท่านคงย้ายหนี แล้ววันนี้จะมีวัดป่าหนองไผ่สำหรับทุกคนหรือไม่ ก็ยากสุดที่จะเดา! 

พอจ สุธรรม 50-700KB (3).JPG

พระอาจารย์สุธรรม วัดป่าหนองไผ่

๏ สวนป่าอัมพวัน 
 

            เมื่อ ๔๐ ปีก่อน(ปัจจุบัน ๒๕๖๓) เทือกเขาภูพานเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์สารพัดชนิด แต่สภาพป่าบริเวณเกือบ ๗๐๐ ไร่ในเขตวัด ก็มีสภาพบางส่วนถูกบุกรุกแผ้วถาง เผาป่า ทำไร่มันสำปะหลัง ในช่วงที่ทางวัดขาดผู้ดูแล ก่อนหน้าที่พระอาจารย์จะย้ายมาพำนัก ดังนั้นส่วนด้านหน้าของวัดจึงเป็นทุ่งหญ้าคาเสียเป็น      ส่วนใหญ่ อากาศค่อนข้างร้อนแรง แห้งแล้ง ไม่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ท่านจึงมีดำรินำ “มะม่วง” นานาพันธุ์มาปลูกทดแทนไม้เก่าที่ถูกตัดทำลายไป และเหตุผลที่สำคัญ 2 ประการ ที่ทำให้ท่านเลือกที่จะปลูกมะม่วงก็เพราะ 

๑. มะม่วงนั้นไม่ผลัดใบพร้อมกัน จึงเป็นต้นไม้ที่จะให้ร่มเงาตลอดปี 

๒. ท่านเกิดความเมตตาสงสารชาวบ้านที่ไม่เข้าใจวิธีปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรของตน ท่านจึงต้องการปลูกไม้ผลสาธิตให้ชาวบ้านดูว่า การปลูกและดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี จะเพิ่มพูนผลผลิตได้อย่างมหาศาล          สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง กับทุกคน ถ้าทำจริง ! 

            ในการนี้ท่านได้รับความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง คัดเลือกจัดส่งพันธุ์มะม่วงหลากหลายชนิด ชั้น ๑  เกรด A จำนวนกว่า ๒๐๐ ต้น มาเพาะปลูกในที่รกร้างที่ปรับพื้นที่เสียใหม่ โดยมีชาวบ้านระดมกำลังมาช่วยกันพัฒนาทุ่งหญ้า ป่ารก ให้กลับเป็นป่าชอุ่มชุ่มชื้นอีกวาระหนึ่ง ไม่กี่ปีให้หลัง ผลผลิตอันน่าชื่นใจก็บังเกิดขึ้น สมตามเหตุตามปัจจัยที่ได้กระทำ 

            วัดป่าหนองไผ่ จึงมีมะม่วงพันธุ์ดี ผลงาม นำออกตระเวนแจกจ่ายแบ่งปันสู่วัดต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียงอยู่เสมอ ต่อมาก็ปลูกสวนลิ้นจี่ สวนมะขามหวาน สวนลำใย และผลไม้ดี        ชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย ได้ผลผลิตออกมาก็มีแต่แจกจ่ายและแบ่งปัน ไม่มีการซื้อขายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามตามปฏิปทาของพระวัดป่าสายหลวงปู่มั่นนั่นเอง 
 

๏ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่มีสาเหตุ 
 

            การพัฒนาวัดได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาเป็นลำดับ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอย่างแข็งขันจากชาวสุพรรณบุรี ชาวปากช่อง (จังหวัดนครราชสีมา) ชาวระยอง ชาวสกลนคร และที่ต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่ในเบื้องต้น (เมื่อแรกมาอยู่ที่วัดนี้ใหม่ๆ) ก็ล้วนเป็นญาติพี่น้องในครอบครัวของท่านนั่นเอง! 

            ทว่าการพัฒนาที่ว่านี้ ไม่ใช่การบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อสร้างถาวรวัตถุ แต่เป็นการพัฒนาในรูปแบบ    การฟื้นฟูสภาพที่เสื่อมโทรม รกร้าง เดิมเป็นทุ่งหญ้าคา เดิมเป็นป่าทุ่งหญ้าเสือหมอบ ให้กลายเป็นป่าไม้ที่ชุ่มชื้นรื่นรมย์อีกครั้ง ดังได้กล่าวมาแล้ว สวนเสนาสนะที่พักอาศัย ก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย อยู่ในเงื้อมถ้ำภูผา หรือสร้างเป็นกุฏิเล็กๆ เป็นเพิงเล็กๆ หลังคามุงหญ้าคา พอคุ้มแดด คุ้มฝน ปลูกสร้างบนผลาญหินเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่า 

            ในการพัฒนานี้ต้องใช้ทุนมากพอสมควร เพราะท่านต้องการผูกน้ำใจไมตรีกับชาวบ้านก่อน ตามนโยบายที่ว่า“สงเคราะห์เกื้อกูลด้วยอามิสก่อน เมื่อเขาผูกพันแล้วค่อยสงเคราะห์ด้วย ‘ธรรม’ อันเป็นสมบัติ    อันล้ำค่ากว่าสิ่งอื่นใด” ดังนั้นในเบื้องต้นญาติพี่น้องของท่านจึงนำสิ่งของมาแจกจ่ายเป็นทานแก่ชาวบ้านอยู่เป็นประจำ ประกอบกับชาวบ้านเองได้เห็นข้อวัตรปฏิปทาที่ท่านพระอาจารย์ได้ประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  จนบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ทยอยกันมาเข้าวัดเพื่อช่วยเหลือทางด้านกำลังงานในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ 

            การที่ญาติพี่น้องของท่าน ร่วมใจมาให้การสนับสนุนท่านอย่างเต็มกำลังเช่นนี้ มิใช่เป็นปราฏการณ์พลิกผันไปเอง ทว่าเกิดขึ้นจากกุศโลบายอันแยบยลด้วยธรรมของท่านพระอาจารย์ ที่ได้ฝากฝังหมู่เพื่อน และกราบขอความเมตตาจากครูบาอาจารย์ว่า หากท่านใดมีกิจธุระผ่านไปทางระยองหรือสุพรรณบุรี โปรดแวะที่บ้าน      ของท่านเพื่อเยี่ยมเยียนโยมบิดามารดาและญาติอื่นๆ หากมีโอกาสก็ขอความกรุณาแสดงธรรมพอเป็นสังเขป      ตามกาลเทศะในขณะนั้นๆ เพื่อให้ทางบ้านได้มีความเข้าใจในคุณค่าแห่งธรรมเพิ่มยิ่งขึ้นๆ 

            ด้วยความที่ท่านมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน มีน้ำใจ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนจนเป็นที่รักใคร่ของ      หมู่คณะ ดังนั้นจึงมีพระสายกรรมฐานแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนครอบครัวท่านอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา...เมฆดำทะมึนที่เคยทำให้ท้องฟ้าต้องมืดมิด และมรสุมร้ายแห่งชีวิตก็ค่อยๆ สลายตัวไป เปิดทางให้แสงสว่างค่อยๆ กระจ่างแจ้งเป็นลำดับ... ด้วยบารมีพระธรรม! 

            ผู้ที่เปลี่ยนใจ กลายมาเป็นผู้ที่มีศรัทธาแน่นแฟ้นที่สุดคนหนึ่งต่อพระพุทธศาสนา บริจาคทรัพย์สินเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา มาโดยตลอด ๒๐ กว่าปี ตราบจนลมหายใจสุดท้าย ก็คือ คุณโยมบิดาของท่านพระอาจารย์นั่นเอง! แม้ในวาระสุดท้าย ท่านก็เรียกหาแต่พระลูกชาย ซึ่งบัดนี้เป็นดั่งมิ่งขวัญและกำลังใจอันล้ำค่า เป็นความภาคภูมิใจอันสูงสุดของวงศ์ตระกูล ครั้งสุดท้ายท่านได้มีโอกาสสนทนากับพระลูกชายเพียง ๒-๓ คำ คุณโยมบิดาก็เป็นสุขใจ สิ้นลมจากไปด้วยอาการสงบ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๔๒ สิริรวมอายุได้ ๘๕ ปี 


๏ อานุภาพแห่งพระธรรม 
 

            การฟื้นฟูสภาพวัดในเบื้องแรก (พ.ศ.๒๕๒๔) ท่านเพียงมีนโยบายปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้คืนสู่บรรยากาศป่าเขาที่ให้ ร่มเงาชุ่มเย็นอีกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมไว้รับรองเพื่อนสหธรรมิกผู้ใฝ่ใจในการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้ได้มีสถานที่พักภาวนาที่มีบรรยากาศเหมาะสม ส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้า รวมถึงการเปิดโอกาสให้ญาติโยมประชาชนทั่วไป จากทิศทั้งสี่ที่มีความสนใจจะฝึกอบรม ขัดเกลาจิตใจตน ได้มีสถานที่พักพิงอิงอาศัย 

            อุปสรรคในเบื้องต้นมีหลายประการ อาทิ ความไม่เข้าใจของกลุ่มบางกลุ่ม ที่เพ่งเล็งว่า การฟื้นฟูสำนักสงฆ์ป่าหนองไผ่ (ชื่อในขณะนั้น) จะเป็นการบั่นทอนลิดรอนอำนาจหรือขัดผลประโยชน์ที่พวกตนเคยมี ทำให้ท่านได้รับการกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา อยู่เสมอ ท่านก็อาศัยธรรมเป็นที่พึ่ง เป็นหนทางในการแก้ปัญหา   เริ่มด้วยการใช้ขันติ ความอดทน ทมะ ความข่มใจ จาคะ การสละแบ่งปัน สัจจะ ความจริงบริสุทธิ์ใจ และ      การแผ่เมตตา การให้อภัย

            จนในที่สุดเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์บารมีแห่งพระธรรม ความขัดแย้ง การกลั่นแกล้งก็ลดน้อยลง จนถึงกับเป็นมิตรต่อกันได้ แม้จะต้องอดกลั้นอดทนอยู่เป็นระยะเวลานานพอสมควรก็ตามที ! 
 

๏ การพัฒนาบุคคล คือการพัฒนาสังคม 
 

            ในระยะแรกของการตั้งวัด แม้ว่าท่านจะมีความประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลท้องถิ่นและสังคมด้วยความเมตตา แต่เมื่อพิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว นโยบายของวัดในเบื้องต้น คือการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจัง ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และญาติโยม ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพไว้ช่วยเหลือสังคมตามกาลเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นกิจกรรมภายในวัดป่าหนองไผ่ ในเบื้องต้น จึงเป็นเรื่องของการภาวนากรรมฐานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งดำเนินไปอย่างเงียบๆ แต่ว่าจริงจัง เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์พาดำเนินมา 
 

๏ สุขที่ได้จากการเสียสละ 

ย่อมชนะสุขที่ได้จากอามิสสินจ้าง 
 

            แม้จะยังมิอาจช่วยเหลือสังคมในวงกว้างได้ แต่ในระดับชุมชนท้องถิ่น ท่านก็ให้ความอนุเคราะห์เสมอมาไม่ว่าจะเป็นในรูปวัตถุสิ่งของ ปัจจัยเงินทองเท่าที่พอมี และที่สำคัญที่สุด คือ การสงเคราะห์ด้วยธรรม น้อมนำให้ชาวบ้าน มีศีลธรรม มีความขยันทำมาหากินด้วยความสุจริต มีน้ำใจต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน สภาพชุมชนโดยรอบจึงมีความผาสุก เป็นที่อบอุ่นใจทั่วหน้า 

            นโยบายที่สำคัญซึ่งท่านได้พยายามรักษาไว้อย่างมั่นคงประการหนึ่ง ก็คือการไม่ใช้เงินเป็นค่าจ้างแรงงาน เพราะอาจจะเป็นดูเหมือนว่า มีการพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างเด่นชัด แต่ทว่าผลทางด้านจิตใจจะถดถอย เสื่อมโทรม จากศรัทธาที่บริสุทธิ์ใจได้โดยง่าย มรดกทางวัฒนธรรม ศาสนา ประเพณีที่บรรพบุรุษสร้างสมไว้จะค่อยๆ เสื่อมสลาย หากใช้เงินเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนกำลังแรงงานของชาวบ้าน ความมีน้ำใจ ความเสียสละ  ความเอื้อเฟื้อ แบ่งปันความบริสุทธิ์ใจ ในการทำบุญสุนทานอาจจะจืดจางจนหมดไปได้ หากมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยเงิน!

            ผู้ที่จะรักษานโยบายนี้ไว้ได้จะต้องอาศัยความอดทนความแข็งใจเป็นอย่างสูง เพราะความเมตตาสงสารชาวบ้านที่ยากจนก็มีเต็มล้นใจ การสงเคราะห์ด้วยการจ่ายค่าแรงงานก็เป็นสิ่งที่สะดวกคล่องตัว เนรมิตสิ่งใดได้ดังใจ ได้ตามความประสงค์ เป็นไปตามเวลาที่กำหนด สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ถ้าใช้เงินเป็นเครื่องตอบแทน! 

            ทว่านโยบายของท่านคือการสร้างคน! มิใช่สร้างวัตถุให้มีล้นเหลือ แต่ความเจริญทางด้านจิตใจกลับลดน้อยลงๆ หาใช่ความประสงค์ไม่ สิ่งที่จะทำให้ชาวบ้านบังเกิดความศรัทธา และพร้อมเพรียงใจกันเสียสละมาทำนุบำรุง สถานที่ของวัด โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นวัตถุเงินทอง ก็มีเพียงสิ่งเดียวคือ “พระธรรม” 

            นั่นคือพระทุกรูป คนทุกคนที่อาศัยอยู่ในวัด ต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย ใฝ่ใจในการเจริญกรรมฐานอยู่เนืองนิจ ใช้เวลาเป็นเครื่องสร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้าน และสงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของปัจจัยตามกาลอันควร มิใช่การจ่ายเพื่อตอบแทนแรงงานหลังเลิกงาน การใช้นโยบายนี้ บางคราวคิดแล้ว ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการจ่ายค่าแรงรายวัน  แต่ก็คุ้มค่าเพราะว่าเราสามารถรักษาคุณธรรม คุณความดีที่หลั่งมาเองจากจิตใจชาวบ้าน เอาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน! 

พอจ สุธรรม 50-700KB (19).JPG

พระอาจารย์สุธรรม วัดป่าหนองไผ่

๏ ค่าของงานอยู่ที่คุณค่าของจิตใจ 
 

            วัดป่าหนองไผ่ ค่อยๆ มีศักยภาพในการช่วยเหลือสังคม อย่างค่อยเป็นค่อยไป มิใช่เติบโตแบบ        ก้าวกระโดด กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคมเริ่มมีมากขึ้น และกว้างขวางขึ้นตามกำลัง ทั้งนี้ก็ด้วยความสมัครสมานสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคณะศิษย์ทุกฝ่าย โดยมีพระอาจารย์เป็นผู้นำเป็นประธาน        พาบำเพ็ญบุญกุศลอยู่เนืองนิจนั่นเอง 

            จุดสำคัญของการช่วยเหลือสังคมของวัดป่าหนองไผ่นั้น แม้มิอาจวัดกันได้ด้วยปริมาณเงิน ปริมาณวัตถุสิ่งของ ปริมาณของกิจกรรม แต่พระอาจารย์และคณะศิษย์ ต่างก็มั่นใจในคุณภาพของกิจกรรมว่า แม้จะเล็ก ๆ แต่ก็สมบูรณ์ด้วยคุณภาพของความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจที่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ นั้นโดยธรรมร่วมกัน 
 

๏ เป็นไปตามเหตุและปัจจัย โดยมีธรรมเป็นแก่นสาร 
 

            ในช่วง ๑๐ ปี หลังจากการเข้ามาฟื้นฟูสถานที่ของท่านพระอาจารย์ วัดป่าหนองไผ่เริ่มเป็นที่รู้จัก      เป็นที่เคารพศรัทธาจากมหาชนในวงกว้างขึ้นเป็นลำดับ เป็นเหตุให้ต้องมีการขยับขยายด้านที่พักอาศัย ห้องน้ำห้องส้วม โรงครัว เพื่อรองรับผู้คนที่หลั่งไหลทยอยกันเข้ามาอาศัยวัดเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ได้ฝึกเจริญสติ สมาธิ ปัญญาแห่งตน ญาติโยมที่เข้ามาส่วนใหญ่มักเป็นสตรีสูงอายุ มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ แต่ก็มุ่งมาดปรารถนาในการปฏิบัติธรรม ดังนั้นสิ่งก่อสร้างในระยะต่อมาจึงคำนึงถึงความปลอดภัยแน่นหนา และความสะดวกสบายตามสมควรแก่อัตภาพของผู้ปฏิบัติที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชราและสุขภาพไม่สู้จะดี 

            ส่วนสำหรับด้านที่พักสำหรับสงฆ์นั้น ก็ยังคงไว้ซึ่งปฏิปทาเดิมคือ กระจายอยู่ท่ามกลางป่าเขา เรียบง่าย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้มีหน้าที่โดยตรงในการสืบอายุของพระพุทธศาสนา 

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่กงมา.jpg

หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ

หลวงปู่หล้า.jpg

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

๏ อนุสรณ์สถานควรแก่การอนุรักษ์ไว้ 
 

            ด้วยเหตุที่วัดป่าหนองไผ่ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเกือบ ๙๔ ปี (พ.ศ.๒๔๖๙-ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๖๓) นับเนื่องแต่การมาพักปฏิบัติภาวนาและอบรมสั่งสอนชาวบ้านของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นองค์ปฐม แล้วตามด้วยอาจารย์ที่เป็นศิษย์องค์สำคัญๆ อีกหลายรูป อาทิ  หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่พระธุดงคกรรมฐานว่า เป็นสถานที่อันวิเวก เหมาะสมแก่การภาวนา ทำให้มีพระธุดงค์มาพักเพื่อปฏิบัติธรรมและจำพรรษาอยู่เสมอ จึงนับว่าวัดป่าหนองไผ่ ซึ่งตั้งอยู่เทือกเขาภูพานอันมีพื้นที่เกือบ ๗๐๐ ไร่ เป็นสถานที่สำคัญเก่าแก่ ถือเป็นอนุสรณ์สถานที่ควรแก่การช่วยกันอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไปให้ยาวนานที่สุด 
 

๏ เหตุที่พื้นป่ายังสมบูรณ์ 
 

            โดยเหตุที่วัดป่าหนองไผ่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระศาสนา ชาวบ้านส่วนใหญ่ จึงต่างมีความเคารพเลื่อมใส ศรัทธา อ่อนน้อม เชื่อฟัง และช่วยกันดูแลรักษาสงวนพื้นที่ป่าบริเวณนี้ให้เป็นเขตสงบ งดการตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวบ้าน และเพื่อเอื้อเฟื้อให้ความสงบ เหมาะแก่การภาวนาของพระภิกษุสามเณร นับแต่กาลก่อนจนถึงปัจจุบัน พระภิกษุสามเณรได้เมตตาอบรมชาวบ้านให้ตั้งใจรักษาศีล ฝึกฝนสมาธิภาวนาเจริญปัญญาอยู่เป็นนิจและเป็นประจำ ท่านยังให้การอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ให้มีความประพฤติดีทำมาหากิน ด้วยความขยันขันแข็ง สุจริต ที่สำคัญอีกประการคือ อบรมสั่งสอนชาวบ้าน ให้ช่วยกันปลูกป่า รักษาธรรมชาติ เหตุนี้ผืนป่าบริเวณนั้น จึงยังคงสภาพที่สมบูรณ์เอาไว้ได้ 
 

๏ ป่าไม้สร้างศาสนา-ศาสนารักษาป่าไม้ 
 

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม รับภาระบริหารดูแลรักษาวัดนี้นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านมีนโยบายใช้ทรัพยากร “ป่าไม้” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดถึงสองประการ คือ 

๑. รักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ เพื่อใช้อนุรักษ์ควบคุมความสมดุลระบบนิเวศน์ธรรมชาติ อันเป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างทุกสรรพชีวิต 

๒. รักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ เพื่อใช้พัฒนาคุณภาพจิตใจ “ทรัพยากรบุคคลของชาติ” กล่าวคือ การปกป้องคุ้มครอง สงวนรักษาพื้นที่นี้ไว้ให้มีความปลอดภัย มีความสงบวิเวก ร่มรื่น  เป็นบรรยากาศธรรมชาติที่เหมาะสม          แก่การฝึกหัดขัดเกลาจิตใจ ปฏิบัติสมาธิภาวนา พัฒนาสติปัญญา สำหรับพระภิกษุ สามเณร เยาวชน และบุคคลทั่วไป เป็นการสร้างพลเมืองดี มีศีลธรรมเพื่อรับใช้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้มั่นคงสถาพรสืบไป 

พอจ สุธรรม 5MB+ (4).JPG

พระอาจารย์สุธรรม วัดป่าหนองไผ่

๏ แนวคิดทางด้านการศึกษา 
 

            ท่านพระอาจารย์สุธรรม มีความคิดเห็นสนับสนุนการศึกษาในระบบตามที่ราชการจัดให้แก่เยาวชน แต่ท่าน มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการศึกษาด้านศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมที่เหมาะสมแยบยลน่าสนใจ น่าติดตาม อย่างเพียงพอควบคู่ไปด้วย มิใช่เป็นเพียงวิชาเล็ก ๆ ที่แทรกเสริมเป็นแค่คะแนนช่วย-คะแนนเก็บ ของนักเรียนเท่านั้น  และการศึกษาด้านศีลธรรมคุณธรรมที่ถูกต้องเหมาะสมตามลำดับวัยนี้ ควรจัดให้มีต่อเนื่องไปจนถึงขั้นสูงสุดของระดับอุดมศึกษา เพราะว่าคนที่มีการศึกษาสูง แต่ขาดคุณธรรม ย่อมทำร้ายสังคมประเทศชาติให้เกิดความวิบัติเสียหาย  อย่างใหญ่หลวงได้โดยง่าย เช่นตัวอย่างที่เราทุกคนกำลังประสบ ได้รับความยากลำบากโดยทั่วกัน ในภาวะวิกฤติ ของทุกวงการของชาติบ้านเมืองในปัจจุบัน 
 

๏ ผลงานสำคัญ 
 

การสืบอายุพระพุทธศาสนา, การพัฒนาจิตใจ และการบริจาคให้กับสังคม ๓ ข้อนี้ คือนโยบายหลักของท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม 

ก. การสืบอายุพระพุทธศาสนา 

๑. ประการแรกคือ ความเข้มงวดกวดขันในการอบรมดูแลพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัด ให้มีความประพฤติ    การปฏิบัติตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

๒. มีการส่งเสริมด้านปริยัติ การศึกษาเล่าเรียนแก่พระภิกษุสามเณรในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านตำราพระไตรปิฎก หนังสือธรรมะ บันทึกเสียงแสดงธรรมของครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ หลายท่าน 

๓. มีการจัดสร้างเสนาสนะตามความเหมาะสม ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย เพื่อให้ผู้ที่พักอาศัยได้เจริญก้าวหน้า ในอรรถในธรรม ในการเจริญกรรมฐานอย่างสัปปายะ 

๔. ดูแลเอื้อเฟื้อเกื้อกูลภิกษุสามเณร ด้วยปัจจัย ๔ อันควรแก่สมณเพศและการปฏิบัติสมาธิภาวนา 

๕. รักษามรดกประเพณี วัฒนธรรมทางพุทธศาสนาให้สืบไป อาทิ การออกบิณฑบาต การรับกิจนิมนต์การทำบุญ  นอกสถานที่ การจัดงานศาสนพิธีต่างๆ ที่ส่งเสริมคุณธรรมให้แก่ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส อาทิ การจัดงานกฐินสามัคคีให้ดูเป็นตัวอย่างที่เรียบง่าย แต่ให้ปัญญาให้ธรรมะแก่ผู้ร่วมงาน งดขาดในการจัดดนตรี มหรสพต่าง ๆ มุ่งเน้นให้ผู้คน  มีความรื่นเริงบันเทิงใจในธรรมมากกว่าสิ่งอื่นใด 

๖. มีกิจกรรมที่กระทำต่อเนื่องทุกคืนวันพระตลอดปี คือ การสนทนาธรรม แนะแนวการปฏิบัติธรรม            การทำวัตรสวดมนต์ และนั่งสมาธิภาวนาร่วมกัน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐ น.-๒๒.๓๐ น. ซึ่งมีผู้เดินทางจากตัวเมืองสกลนครและหมู่บ้านในละแวกนั้น ไปร่วมบำเพ็ญภาวนาด้วยกันเป็นประจำสม่ำเสมอ 


ข. การพัฒนาจิตใจ 
๑. มีการต้อนรับบุคคลทั่วไปที่สนใจใฝ่ศึกษาปฏิบัติธรรม ให้มีโอกาสได้พำนักในสถานที่อันเหมาะสมภายในวัด  เพราะมีความสงบ ร่มรื่น สะอาดตา อากาศบริสุทธิ์ และมีความปลอดภัย ทำให้มีความปลอดโปร่งใจ สามารถเจริญสติ สมาธิ ปัญญา ได้โดยง่าย 

๒. สำหรับท่านพระอาจารย์เอง ในระยะต่อมาก็รับกิจนิมนต์ไปบรรยายธรรมแสดงธรรม แก่หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชน อยู่อย่างเสมอตลอดทั้งปี 

๓. นอกจากนี้ท่านก็เปิดสถานที่ไว้รับรองการเข้าฝึกอบรม เจริญสติ สมาธิ ปัญญา เป็นหมู่คณะ จากภาคเอกชนและภาครัฐอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน 

๔. ท่านได้จัดกิจกรรมหลายอย่างที่เปิดโอกาสให้บรรดาลูกศิษย์ได้ใช้กิจกรรมนั้น ๆ เป็นแบบฝึกหัดขัดเกลาพัฒนาจิตใจตนเอง และเพิ่มพูนบุญกุศล เพิ่มพูนมงคลชีวิตให้แก่ตนเอง เช่น 

- การจัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กและนักเรียน
- การออกร้านโรงทาน ในงานบุญของครูบาอาจารย์ทั่วประเทศ 
- ฯลฯ



ค. การบริจาคให้กับสังคม 
๑. โครงการเอื้ออาทรคนเจ็บไข้ ห่วงใยสุขภาพประชาชน เป็นการประสานงานร่วมกับโรงพยาบาลจังหวัด พร้อมทั้งโรงพยาบาลในชุมชนที่ขาดแคลนงบประมาณในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ การบริจาคเครื่องมือแพทย์ ท่านพระอาจารย์สุธรรมเชื่อมั่นในบารมีพระธรรม เชื่อมั่นในกรรม การกระทำคุณความดีอย่างบริสุทธิ์ใจ ย่อมได้รับ การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างบริสุทธิ์ใจเช่นกัน ซึ่งการทำบุญกุศลทำกิจกรรมเช่นนี้ ย่อมตรงไปตาม พระพุทธประสงค์ ทั้งสิ้น 

๏ การศึกษาเพื่อความอยู่รอดของกายและใจ 
 

            ท่านยังสนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยการอบรมสั่งสอน เช่น การแนะนำด้านการอาชีพเกษตรกรรม ฯลฯ ไปจนถึงการศึกษาปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา สรุปว่าเป็นการสนับสนุนส่งเสริมสร้างสรรค์ การศึกษาเพื่อความอยู่รอด ทั้งทางกายและทางใจ แต่คุณูปการที่เด่นชัดทางด้านส่งเสริมการศึกษาของท่าน  พระอาจารย์ คือ “ท่านประพฤติ ปฏิบัติตนให้ดูเป็นตัวอย่าง ท่านอบรมสั่งสอนผู้ใดอย่างไร ท่านก็ประพฤติปฏิบัติตามนั้นได้จริง!” 

bottom of page